เผยแพร่เมื่อ : อาทิตย์ 9 มิถุนายน 2567 โดย ณิชกมล โพธิ์แก้ว จำนวนผู้เข้าชม 1069 คน
เมื่อวันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน 2567 ผู้ช่วยศาตราจารย์ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.ศิริขวัญ ปัญญาเรียน ผู้ช่วยผู้อำนวยการและบุคลากร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ให้การต้อนรับคุณเบญจมาศ ตีระมาศวณิช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านงานวิจัยพัฒนาเชิงพื้นที และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ดร.อนิวรรต หาสุข ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน พร้อมทั้งคณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากร จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน กว่า 30 ท่าน
ทริป Lanna Tour
#มองทุน
#ผ่านทริป
หยิบเอาคำพูดของพ่อหลวงพรหมมินทร์ (ซึ่งเกษียณไปเมื่อ 13 ปีแล้ว เพราะแกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “ปรเมศวร์” มา 13 ปี ในความหมายนี้จึงเท่ากับว่าอยู่ในวัยที่กำลังสนุกกับการทำงาน) แห่งบ้านแม่กำปองมาขบคิดต่อ หลังจากที่ท่านได้ตอบคำถามของคณะดูงานถึงความยั่งยืนของการขับเคลื่อนชุมชนที่เน้นย้ำถึงการบริหารต้นทุน ความยั่งยืนจะเกิดมีไม่ได้เลยหากไม่มีทุนเดิม ไม่บริหารทุนเดิมหรือต้นทุนที่มี ภาษาธรรมเราจึงมักได้ยินคนพูด “หมดบุญ” ก็คือหมดทุน เราทุกคนจึงจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการทุนที่ดีที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ผมขบคิด “ทุน” ของ สวพ.มทร.ล้านนา ผ่านการบริหารจัดการทริปล้านนา social Engagement
การได้รับโจทย์เพื่อพาคณะอาจารย์นักวิจัยจาก มทร.ศรีวิชัย และ มทร.อีสาน ที่ร่วมขับเคลื่อนงานขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสมสู่คนจนเป้าหมายซึ่งมาร่วมงาน social engagement ครั้งที่ 9 นับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับบุคลากรของ สวพ.มทร.ล้านนา และเป็นเรื่องใหม่สำหรับผม เช้าวันหลังวันศึกษาดูงาน ผมจึงได้มีโอกาสกลับมานั่งทบทวน กลับมานั่งคิด กลับมานึกถึง “การบริหารจัดการทุน” ดังคำพ่อหลวงว่า จึงเห็นมุมของ “ทุน” และ “การบริหารจัดการ” ฝั่งของเรา
#ความหวัง ความหวังเป็นทุนสำคัญของมนุษย์ โลกต่างขับเคลื่อนด้วยความหวัง หวังให้ตนเองดีขึ้น หวังให้ครอบครัวรักกัน หวังให้ชุมชนยั่งยืน เช่นกันกับอาจารย์นักวิจัยผู้มาร่วมงานในครั้งนี้ก็มีความหวัง เป็นอันรู้กันว่าหากเราไปต่างแดน สิ่งที่เราทุกคนต้องการคือการเปิดหูเปิดตา ยิ่งในโลกของโซเชียลมีเดีย การได้เช็คอินต่างถิ่นแล้วบอกใครหลาย ๆ คนว่า “ฉันมาแล้วนะ”ดูจะเป็นของคู่กัน เบื้องหลังของการเข้าร่วมสัมนาวิชาการ ผมมักได้ยินคำค่อนขอดประจำว่า หาเรื่องไปเที่ยว หลายครั้งก็นึกน้อยใจที่หลายคนให้ความสำคัญกับงานน้อยกว่าความสนุกส่วนตัวหรือมีทัศนคติแง่นี้กับอาจารย์นักวิจัยผู้มุ่งมั่นเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างถิ่นเต็มที่ การได้รับโจทย์ให้นำพาการศึกษาดูงานในครั้งนี้ จึงเปรียบดังการบริหารความหวังทั้ง 3 ส่วน
ส่วนที่หนึ่ง ความหวังของผู้อำนวยการแผน เชื่อว่าลึกๆของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ ก็อยากให้อาจารย์นักวิจัยทุกท่านได้ความรู้ ได้ประโยชน์ ได้ความสนุก ได้ประสบการณ์ที่ดีจากการศึกษาดูงาน ทีม สวพ.มทร.ล้านนา จึงต้องเอาเรื่องนี้มาขบคิดวางแผนกัน ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่าหลังจากจบทริปนี้แล้ว ท่านคงบรรลุความหวัง (องคาพยพที่ร่วมทริปได้ความรู้ ได้ประโยชน์ ได้สนุก ได้ความสุข) และทะลุหวังในมิติที่จะเกิดงานใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนกองทุนเพื่อการศึกษาสำหรับสามเณรเยาวชนด้อยโอกาส ความมีแนวคิดร่วมที่จะขึ้นโจทย์งานพัฒนาเชิงพื้นที่ด้านการส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาคนในระบบการศึกษาให้พร้อมสำหรับชุมชนระดับเครือข่าย (ขากลับ บนรถตู้ เว้นจากบทสนทนา ผมได้ยินเสียงท่านผิวปาก คนเรานี่ถ้าไม่สุขจริงผิวปากไม่ออกนะครับ)
ส่วนที่สอง ความหวังของอาจารย์นักวิจัย ที่ไม่อยากให้หนึ่งวันที่เพิ่มขึ้นมา อันหมายถึงการจากลาคนที่บ้านมานานนั้น ต้องเปล่าประโยชน์ พอสิ้นสุดทริปผมพอจะมองออกจากสายตาและรอยยิ้มของแต่ละท่านแล้วคงไม่เป็นการเข้าข้างตนเองเกินไปนัก ผมว่าท่านเหล่านั้นมีความสุขกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ทีม สวพ.มทร.ล้านนา ส่งมอบ ผ่านทริปนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขิล ณ วัดเจดีย์หลวง การได้ร่วมแลกเปลี่ยนเปิดประสบการณ์การทำงานเชิงพื้นที่ผ่านกลไกการจัดการศึกษา ณ โรงเรียนดอยสะเก็ดผดุงศาสน์(วัดปทุมสราราม) การศึกษาดูงานการบริหารจัดการพื้นที่ป่าของในหลวงรัชกาลที่ 9 ณ ศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ก่อนจะไปแลกเปลี่ยนกับพ่อหลวงพรหมมินทร์ แล้วเยี่ยมชมสัมผัสอากาศเย็นๆ สัมผัสละอองฝน บนชุมชนแม่กำปอง และปิดทริปด้วยการ “จ่ายทรัพย์” ซึ่งของฝากกลับไปกำนัลคนที่บ้าน (การจ่ายทรัพย์นั้น พุทธศาสนาเรียงลำดับความสุขของคฤหัสถ์ไว้เป็นลำดับที่สอง)
ส่วนที่สาม ความหวังของผู้ที่ถูกเยี่ยมเยือน เป็นอันรู้กันว่าหลายคนหลายพื้นที่บอบช้ำ เพราะการศึกษาดูงานจากบุคคลภายนอก หลายชุมชนปิดตัวเองจากการศึกษาดูงานเพราะไม่ได้เกิดประโยชน์กับเขา การออกแบบที่มองว่าท้ายที่สุดแล้วชุมชนเองก็ควรได้ประโยชน์จากการเยี่ยมของเราเช่นกัน กระบวนการศึกษาดูงานในครั้งนี้ตั้งแต่การใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขิล สวพ.มทร.ล้านนา ได้ใช้จ่ายเงินในการซื้อดอกไม้ของชุมชนเพื่อให้คณะได้นำไปบูชา ดอกไม้ของชุมชนนั้นจึงหลากหลายตะกร้าของแต่ละคนจึงมีดอกที่แตกต่างกัน ในลำดับการไปที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม การนำเข้าข้อมูลจากฝั่งพระอาจารย์การแลกเปลี่ยนจากผู้มาเยือนทำให้เกิดไอเดียดีๆที่คาดว่าจะเกิดมีในอนาคต ส่วนที่ศูนย์พัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯนั้น ต้องบอกว่า มทร.ล้านนา ได้เต็ม ๆ จากกระบวนการแลกเปลี่ยนเพราะนั่นคือแหล่งต้นแบบที่ดีหากจะมีการร่วมมือกันในอนาคต ปลายทางที่แม่กำปอง ก็คงไม่พ้นสิ่งที่ชุมชนได้คือการจับจ่ายใช้สอยทุนของคณะต่อผลิตภัณฑ์ชุมชน
ที่สำคัญกระบวนการนี้ ทำให้เห็นว่าทีมผู้มาเยือนได้ยังความหวังของ สวพ.มทร.ล้านนา ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยของ มทร.ล้านนา ให้บรรลุเพราะการเติมเต็มประสบการณ์และชุดความรู้เพื่อการขับเคลื่อนงานวิจัยของแต่ละท่าน
#คนคือทีม คนคือต้นทุนที่สำคัญของทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร เมื่อคนหลายคนมารวมกันโดยผ่านการบริหารจัดการที่ดี ก็จะเกิดความเป็นทีมขึ้น เช่นกันกับ สวพ.มทร.ล้านนา ก็มีต้นทุนที่ขับเคลื่อนงานด้านการบริหารจัดการงานวิจัยของ มทร.ล้านนา ทุกคนมีความเชี่ยวชาญ ความชำนาญเฉพาะด้าน เมื่อมีโจทย์นี้เข้ามาที่สถาบัน ผู้บริหารจึงทำการรวมคนให้เป็นทีม เป็นทีมที่จะมาดำเนินการเรื่องนี้ เอาจุดเด่นของแต่ละคนมารวมกัน ตั้งแต่เริ่มคิดเรื่องนี้จึงเห็นการวางแผน การออกแบบกระบวนการ ของทีม ย้อนกลับไปมองจึงเห็นคนที่ทำงานหลังบ้านคอยตระเตรียม คนทำงานหน้าบ้านคอยต้อนรับขับสู้
โดยส่วนตัวผมมองว่าเมื่อจบทริปกลับได้บทเรียนดี ๆ ในการบริหารคนในสำนักงานที่ถูกแสนถูก คือ “ถูกฝา ถูกตัว ถูกคน ถูกงาน ถูกใจ”
โลกที่ขับเคลื่อนด้วย “ความหวัง” ของ “คน” จึงเป็นโลกในอุดมคติที่ไม่ไกลเกิน ในคนนั้นมีความหวัง ในความหวังนั้นมีคน เช่นกันกับชุมชนทีี่เราเพิ่งจากมาก็มีความหวังเช่นกัน
ขอบคุณบทเรียนดีๆ ที่ได้ในครั้งนี้ครับ เพราะท้ายที่สุด ผมก็ “หวัง” ว่าหากมีโอกาสให้ สวพ.มทร.ล้านนา จัดทริปแบบนี้อีกครั้ง คงจะทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม
ปล.ผมใช้รูปรวมประกอบ เพราะในนั้นมีคน ในนั้นมีทีม ในนั้นมีหวัง แน่นอนที่สุดในนั้นมี “ทุน”
#ขอบคุณบทความดีดี จากพี่ยนต์ (นายสุริยนต์ สูงคำ เจ้าหน้าที่วิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนา มทร.ล้านนา)
คลังรูปภาพ : lanna tour
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา